ข้อดี-ข้อเสีย ไทยถึงเวลาขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% หรือยัง? ส่องดูประเทศเพื่อนบ้าน

การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย ซึ่งเดิมทีประเทศไทยมีอัตราการจัดเก็บอยู่ที่ 10% แต่ด้วยวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 จึงลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 7% และแม้วิกฤติต้มยำกุ้งได้คลี่คลายไปแล้ว รัฐบาลไทยยังคงขยายเวลาใช้อัตรา 7% จนถึงปัจจุบัน เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ล่าสุดมีคำพูดออกจากปากพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเสนอให้ปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ นั่นหมายความว่าจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย มาเป็น 15% กลายเป็นประเด็นถกเถียงของหลายฝ่าย มีการตั้งคำถามว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยัง?” สำหรับประเทศไทย หากปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและกำลังการใช้จ่ายของประชาชนอย่างไร จากการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย

ข้อดีของการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15%

-รายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้น
การปรับขึ้น VAT จะช่วยเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และการสาธารณสุข

-ลดภาระหนี้สาธารณะ
ในสถานการณ์ที่หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้น รายได้จากภาษีที่มากขึ้นสามารถลดความเสี่ยงทางการคลังในระยะยาว

-ปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานสากล
อัตรา VAT ที่ 15% ใกล้เคียงกับมาตรฐานโลกมากขึ้น สร้างภาพลักษณ์ด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจในสายตานักลงทุน

ข้อเสียของการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15%

-เพิ่มภาระค่าครองชีพประชาชน
การขึ้น VAT จะทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อค่าครองชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

-ลดกำลังซื้อและกระทบเศรษฐกิจ
ราคาที่เพิ่มสูงอาจทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ส่งผลต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ

-ความสามารถการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
อัตราภาษีที่สูงอาจทำให้ไทยเสียเปรียบทางการค้ากับประเทศในอาเซียนที่มี VAT ต่ำกว่า

เปรียบเทียบอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอาเซียน

  • สิงคโปร์ ปรับขึ้นจาก 8% มาเป็น 9% เมื่อต้นปี 2567 เน้นการบริหารจัดการระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตุนเงินเข้าคลัง รองรับสังคมผู้สูงอายุ
  • มาเลเซีย ปรับเพิ่มจาก 6% เป็น 8% ในเดือนมี.ค. 2567 (ภาษีสินค้าและบริการ หรือ GST ถูกยกเลิกในปี 2561) เน้นการลดภาระค่าครองชีพประชาชน
  • เวียดนาม 10% มุ่งรักษาสมดุลเศรษฐกิจ หลังจากปรับลดลง 8% จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.ปี 2567
  • อินโดนีเซีย 11% มีแผนเพิ่มเป็น 12% ภายในปี 2568
  • ฟิลิปปินส์ 12% ใช้เงินจากภาษีในการพัฒนาสาธารณูปโภค
  • ไทย 7% (ยังคงเดิมตั้งแต่ปี 2540 ) ต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน

เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย จัดอยู่ในระดับต่ำสุด แต่การปรับเพิ่มเป็น 15% จะทำให้สูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

ถึงเวลาหรือยังที่ไทยต้องปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม?

แนวคิดการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม มาเป็น 15% มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากรัฐบาลพิจารณาดำเนินการ ควรมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน เช่น ลดภาษีในกลุ่มสินค้าจำเป็น หรือเพิ่มเงินช่วยเหลือสำหรับผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งต้องสื่อสารกับสาธารณะอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจและลดผลกระทบทางลบ แล้วคิดว่าไทยพร้อมหรือยังกับการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15%?