ปวดเมื่อยคอ บ่าไหล่ โรคสังคมก้มหน้า ยุคศวรรษที่ 21 เสี่ยงอัมพฤกษ์ อันตรายถึงตาย

การเสียชีวิตของ “ผิง ชญาดา พร้าวหอม” ลูกทุ่งสาวหมอลำรถแห่ หลังนอนโคม่าในห้องไอซียู มานาน 10 วัน ทางครอบครัวเชื่อว่ามาจากการไปนวดบิดคอ ในร้านนวดแห่งหนึ่งในตัวเมืองอุดรธานี เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา จนกลายเป็นอัมพฤกษ์ นอนติดเตียงและเสียชีวิตในที่สุด

ถือเป็นอีกบทเรียนสำหรับผู้ชื่นชอบการนวด หลายคนปวดเมื่อยบริเวณต้นคอและบ่าไหล่ ต้องไปพึงการนวด หวังให้อาการบรรเทาลง ทั้งๆที่กระดูกต้นคอ เป็นจุดที่ละเอียดอ่อน เชื่อมกับสมองและกระดูกสันหลัง รวมถึงระบบประสาท เส้นเลือดใหญ่สำคัญๆ ต้องระวังเป็นพิเศษในการนวด

ทำงานก้มหน้าทั้งวันในออฟฟิต โรคฮิตศตวรรษที่ 21

ในเรื่องนี้ ”ดร.สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การปวดเมื่อยต้นคอ ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ผิดวิธี รวมทั้งมาจากการทำงานก้มหน้าทั้งวันในออฟฟิต เป็นโรคฮิตในศตวรรษที่ 21 จากอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ  หรือ Text Neck Syndrome

โรค Text Neck Syndrome เกิดจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นเวลานานเกินไป ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อบริ เวณคอ บ่า และไหล่ จากการก้มคอ ห่อไหล่ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค Text Neck Syndrome อาจลุกลามจนทำให้ข้อต่อ หรือหมอนรองกระดูกบริเวณคอเสื่อมได้

“การโน้มคอก้มศีรษะมาด้านหน้าและห่อไหล่ทั้งสองข้าง ขณะใช้สมาร์ทโฟนบ่อยๆ เป็นเวาลานาน ทำให้ร่างกายอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม จนกล้ามเนื้อบริเวณคอบาดเจ็บเรื้อรัง ปวดคอ อาการชามือเท้า ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ เส้นเลือดตีบ ติดเตียงเป็นอัมพฤกษ์ และอาจตายในที่สุด”

วารสารทางการแพทย์ในสหรัฐฯ ระบุว่า หากเราโน้มคอ ก้มหน้ามองจอสมาร์ทโฟน เพียง 15 องศา คอเราจะแบกรับน้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัม หากก้มมากขึ้นที่ 45 องศา คอต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 20 กิโลกรัม และหากก้มมากกว่าเดิมที่ 60 อง ศา เท่ากับว่าคอต้องรับน้ำหนักถึง 27 กิโล กรัม

หรือเท่ากับเด็กวัย 8 ขวบมานั่งอยู่บนศีรษะขณะที่ยืนเป็นเวลานานๆ จะเกิดอาการชา หรืออ่อนแรงของแขนและมือ ซึ่งอาจะเกิดจากความเสื่อมของแนวกระดูก หรือหมอนรองกระดูกคอ ก่อให้เกิดการกดทับของไขสันหลัง

การป้องกันอาการของโรค Text Neck Syndrome จากการใช้สมาร์ทโฟนทำได้โดยการปรับท่าทางใช้งานโดยให้คออยู่ในแนวตรงมากที่สุด ให้มือถืออยู่ในระดับสายตาไม่ก้มหลังและไม่ห่อไหล่ขณะใช้งาน พักสายตาและเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะทุก 30นาที ไม่อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ควรไปออกกำลังกาย ด้วยการเดิน บ้าง

Text Neck Syndrome พบมากในวัยรุ่น จุดเริ่มต้นอันตราย

ข้อมูลจาก “กภ.พัชริดา กุลครอง” นักกายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ภาวะ Text Neck Syndrome ในศตวรรษที่ 21 เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพา เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และ E-readers เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ในทางกลับกันการใช้งานมากเกินไป การก้มศีรษะไปข้างหน้าบ่อยครั้งขณะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ เกิดความเครียดที่ข้อต่อและโครงสร้างรอบ ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

Text Neck Syndrome พบมากในวัยรุ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอันตรายต่อสุขภาพ มักเริ่มมีความเสื่อมของกระดูกสันหลังส่วนคอในช่วงวัยที่ลดลงเรื่อยๆ และกำลังส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากได้ในทุกช่วงวัยที่การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งจำเป็นและแพร่หลายมากขึ้น

ทั้งนี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้คนจำนวนหลายล้านคน ในยุคปัจจุบันมีการใช้โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากกว่าในอดีต โดยรวมหลายชั่วโมงต่อวันและหลายวันต่อปี มีการประมาณกันว่า 75% ของประชากรโลกเกิดภาวะนี้เพราะการก้มคอใช้โทรศัพท์มือถือในแต่ละวัน

“หากพบว่าตัวเองเสพติดมือถือมากจนเกินไป ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างวินัยในการใช้มือถือให้กับตนเองให้มากขึ้น เพราะปัญหานี้นั้นอยู่ใกล้ตัวเรามากและในปัจจุบัน Text Neck syndrome พบในวัยที่น้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งในวัยเด็กหรือวัยรุ่นเอง ซึ่งเป็นการดีกว่าหากเราป้องกันไว้ก่อนที่ปัญหาอาการปวดคอ บ่า หรือไหล่มากขึ้นจนสายเกินแก้”.