ทำบุญ หรือทำทาน มุมมองความดีที่แตกต่าง ด้วยจิตอาสา สร้างพลังบวก

ซีรีส์ ”อนาฅต” ของ Netflix ในตอน”ศาสดาต้า” นำเสนอเรื่องโลกอนาคต เมื่อชาวพุทธในไทยส่วนใหญ่ ไม่กราบไหว้พระ หันหลังให้วัด แต่กลับไปศรัทธาอุปกรณ์ AI แบบพกพา “ULTRA” เน้น ‘ทำบุญชาตินี้ ต้องได้ใช้ชาตินี้’ ผู้ทำดีจะได้แต้มบุญสะสม อย่างการทิ้งขยะให้ถูกถัง หรือให้อาหารคนยากไร้ เอาไปเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าต่างๆ ได้

ยิ่งในปัจจุบันมีพุทธพาณิชย์ในหลายรูปแบบ ทำให้พุทธศาสนาถูกมองในแง่ลบโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลายเป็นประเด็นถกเถียงของคนในสังคมอีกครั้ง ว่าระหว่างการทำบุญ หรือการทำทาน รูปแบบใดจะส่งผลที่ชัดเจนกว่าในแง่ของการสร้างบุญกุศลและผลลัพธ์ทางจิตใจ ซึ่งในทางพุทธศาสนา ทั้งการทำบุญและทำทาน ต่างเป็นแนวทางแห่งความดีงาม แต่มีจุดมุ่งหมาย วิธีการ และผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป

ความแตกต่างระหว่างการทำบุญ-ทำทาน ได้ชาตินี้ หรือชาติหน้า

การทำบุญในมุมมองของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เชื่อว่าการทำบุญจะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองในชาตินี้และชาติหน้า การทำบุญจึงเปรียบเสมือนการสะสม “บุญ” เพื่อความสุขในปัจจุบันและความหวังในอนาคต ในการทำบุญในหลายรูปแบบทั้งการถวายสังฆทาน ใส่บาตร รักษาศีล ปล่อยนกปล่อยปลา หรือแม้แต่การปฏิบัติธรรม ช่วยให้จิตใจสงบและมีสมาธิ

ส่วนการทำทาน เป็นการให้โดยไม่มีเงื่อนไข ในการแบ่งปันทรัพย์สินหรือสิ่งของให้แก่ผู้อื่น โดยไม่มีการหวังผลตอบแทนด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งการบริจาคอาหาร บริจาคเงิน บริจาคทรัพย์สิน หรือสิ่งของจำเป็นแก่ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยกว่า เพื่อสร้างความสุขในสิ่งที่จับต้องได้ในทันทีทั้งผู้ให้และผู้รับ เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดจากการทำทาน ช่วยเหลือสังคม

ในมุมมองของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ให้แง่คิดเกี่ยวกับการทำบุญไว้ว่า เพียงแค่เรามีจิตที่อาส าเราก็สามารถทำบุญหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ การทำบุญที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนานั้นคือการทำบุญที่ให้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน และนำมาซึ่งความปิติที่ได้บรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งเกิดปัญญาแก่ผู้ให้ เพราะผู้ให้จะรู้สึกว่ามีอัตตาตัวตนที่น้อยลง”

สรุปแล้วทั้งการทำบุญและทำทานต่างสร้างคุณค่าให้กับจิตใจ ขึ้นอยู่กับเจตนาและความเหมาะสมขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละคน หากมีเจตนาดี ไม่คาดหวังใดๆ ย่อมส่งผลให้เกิดบุญกุศล สร้างพลังงานบวกมาสู่ผู้ให้ และเมื่อทำบุญหรือทำทานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลายคนมีความเชื่อว่าควรแผ่เมตตาและอุทิศบุญให้แก่เจ้ากรรมนายเวร เพราะฉะนั้นแล้วการถกเถียงของคนในสังคมระหว่างการทำบุญหรือทำทาน อะไรดีกว่า อาจไม่สำคัญเท่าการตระหนักถึงคุณค่าของความดีที่เราได้สร้างขึ้นในทุกการให้อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่า.