ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เมื่อถามความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการเก็บขยะในอัตราที่แตกต่างกัน ตามพฤติกรรมการคัดแยกขยะ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.31 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วยร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 10.30 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
ด้านการรับรู้ของคนกรุงเทพมหานครต่อการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะพร้อมส่งภาพประกอบการคัดแยกขยะ เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะต่อเดือนในอัตรา 20 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 80.76 ระบุว่า ไม่ทราบเลย รองลงมา ร้อยละ 13.21 ระบุว่า พอทราบอยู่บ้าง และร้อยละ 6.03 ระบุว่า ทราบดี
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ความร่วมมือของคนกรุงเทพมหานครในการเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.81 ระบุว่า ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ รองลงมา ร้อยละ 28.93 ระบุว่า ค่อนข้างให้ความร่วมมือ
ร้อยละ 15.65 ระบุว่า ไม่ให้ความร่วมมือเลย ร้อยละ 9.69 ระบุว่า ให้ความร่วมมือมาก และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานครต่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเฉพาะรถเก๋ง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและเพื่ออุดหนุนกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 17.10 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 13.98 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย
และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประสบความสำเร็จในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในกรุงเทพมหานครตามแนวคิดของกระทรวงคมนาคม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 55.50 ระบุว่าไม่ประสบความสำเร็จเลย รองลงมา ร้อยละ 28.47 ระบุว่า ไม่ค่อยประสบความสำเร็จร้อยละ 12.29 ระบุว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ร้อยละ 2.44 ระบุว่า ประสบความสำเร็จมาก และร้อยละ 1.30 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.