1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา แก้ความยากจนข้ามรุ่น หวั่นกองทุน กยศ. ขาดสภาพคล่อง

ประเทศไทยยังมีปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม ต้องได้รับการแก้ไข จึงจะหลุดพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง “รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” มองว่า การฟื้นฟูนโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุนศึกษา เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา และควรอยู่ภายใต้การดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อผนวกรวมงานขยายโอกาสทางการศึกษาเข้าด้วยกัน เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อทำให้ครอบครัวรายได้น้อยหรือครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพจะทำให้สมาชิกในครอบครัวมีทักษะในการทำงาน มีรายได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และมีความสามารถในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ การเพิ่มโอกาสการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงานจึงเป็นการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ดีกว่ามาตรการประชานิยมแจกเงินทั้งหลาย

ด้านนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน นโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุน หากสามารถดำเนินการได้จะเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศในระยะยาว คุณภาพการศึกษาไทยนั้นตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องทั้งที่มีการมีทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากให้กับ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่งบประมาณจำนวนมากได้ใช้ไปกับงบประจำและงบบริหารจัดการ

นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีการจัดโครงสร้างองค์กรแบบรวมศูนย์เข้าสู่กระทรวง แทนที่จะมีการกระจายอำนาจ กระจายงบไปสู่สถานศึกษา การใช้งบประมาณก็ยังไม่ได้มุ่งตรงไปที่สถานศึกษามุ่งเป้าไปที่นักเรียนนักศึกษา มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาครูอาจารย์ นักวิจัย หรือ มุ่งเป้าไปที่แรงงานในการพัฒนาทักษะผ่านกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบการศึกษาไทยและการจัดการงบประมาณทางด้านการศึกษาวิจัยต้องมีการปฏิรูปใหญ่ และต้องเปลี่ยนเป็นระบบ Demand-side Financing มุ่งไปที่ตัวผู้เรียน ลดความเป็น Supply-side Financing ที่มุ่งจัดสรรงบไปกองอยู่ที่กระทรวง   

ในส่วนของแผนการศึกษาชาติที่เป็นแผนปฏิบัติการ ได้เสนอ สวัสดิการการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ยากจนหรือการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในครอบครัวที่ยากจนโดยให้ “แต้มต่อ” ให้กับเด็กยากจนด้วยมาตรการ CCT (Conditional Cash Transfer) เงินโอนที่มีเงื่อนไขให้เด็กได้เรียน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปเป็นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม โอกาสเรียนระดับอุดมศึกษาของเด็กยากจนมีไม่มาก เปรียบเทียบกับเด็กในครัวเรือนรวยหรือฐานะปานกลาง ผลการศึกษาวิจัยยังพบว่า การลงทุนในเด็ก Investment in Children ครัวเรือนรวยลงทุนในเด็กสูงกว่าครัวเรือนยากจน หลายเท่าตัว 5-10 เท่า   ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต สังคมและชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ Disruptive Technology ยังส่งผลต่อระบบการศึกษาที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวพลิกโฉมครั้งใหญ่และสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อพลวัตดังกล่าว

กองทุน กยศ. เสี่ยงติดลบ ขาดสภาพคล่อง เร็วๆ นี้

ขณะนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 กำลังมีปัญหาสภาพคล่องและอาจประสบปัญหาทางการเงิน จนอาจไม่สามารถสนับสนุนการศึกษาแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในช่วงงบประมาณปี พ.ศ. 2561-2567 กองทุน กยศ. ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จนกระทั่งมีการของบประมาณในปี งบประมาณ 2568 เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เพื่อมาเสริมสภาพคล่อง

เนื่องจากในปีงบประมาณ 2568 กองทุนต้องจ่ายเงินกู้ยืมและภาระผูกพันจ่ายเงินกู้ยืมกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท ส่วนรายรับจากการชำระหนี้มีเพียง 2.7 หมื่นล้านบาท เงินสดสะสมอาจติดลบเร็วๆนี้ และจะเกิดปัญหาสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการศึกษาได้ ขณะนี้มีผู้กู้ยืม กองทุน กยศ. กว่า 7.1 ล้านราย อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ 3.6 ล้านราย ชำระหนี้เรียบร้อย 1.9 ล้านราย

หาก กยศ ขาดสภาพคล่องรุนแรง อาจทำให้นักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ต้องขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ขาดโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจึงควรจัดสรรงบประมาณปี 2568 เพิ่มอย่างน้อยอีก 1.5 หมื่นล้านบาทให้กับกองทุน กยศ.

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตัวการความยากจนข้ามรุ่น

องค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์กร Unicef สหประชาชาติ ธนาคารโลก  (World Bank) ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเพิ่มบทบาทของ กยศ. ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน นักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ยากจนมีประสิทธิภาพและครอบคลุมกว้างยิ่งขึ้น มีความจำเป็นในการต้องปฏิรูประบบการเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาอย่างมียุทธศาสตร์และบูรณาการผ่านระบบการให้ทุนการศึกษา และต้องเพิ่มงบทุนการศึกษาให้เพียงพอโดยเฉพาะทุนการศึกษาในการเรียนสาขาวิชาชีพต่างๆ

จากการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาบ่งชี้ชัดเจนว่า การลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าที่สุดเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม คือ การลงทุนการศึกษาในช่วงปฐมวัย เด็กประถมจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะทางด้านสังคมอ่อนแอลง เพราะหยุดเรียนในชั้นเรียนไปนานจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิดช่วงปี 2563-2564 ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการศึกษาอีกมากที่จะตามมา

“ความรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขอนามัยศึกษา สังคมศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับทุกระดับในการศึกษาขั้นพื้นฐานอ่อนแอลงหมด ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดและต้องปิดโรงเรียน เด็กนักเรียนและนักศึกษาในช่วงดังกล่าวต้องได้รับการเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ชดเชยที่ขาดไป เด็กนักเรียนจะมีปัญหาทางการศึกษาในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในระดับอุดมศึกษา”

เด็กเหล่านี้จะมีความ “อ่อนแอ” ในวิชาพื้นฐานต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้เลย และประเทศไทยก็จะขาดกำลังทั้งที่มีความรู้พื้นฐานและความรู้ขั้นสูงและการวิจัยด้านต่างๆ.