อาฟเตอร์ช็อก เหตุแผ่นดินไหว เริ่มสะเทือนท่องเที่ยวไทย

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.2 ศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งแรงสั่นสะเทือนรุนแรงมายังหลายพื้นที่ในไทยให้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงเชียงใหม่และกรุงเทพฯ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติทันทีโดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ และเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงไตรมาส 2 และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี

จากตัวเลขเบื้องต้นในช่วง 2 วันแรกหลังเหตุการณ์ พบว่ามีการยกเลิกการจองห้องพักแล้วประมาณ 1,100 บุกกิงทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกห้องพักในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งการสำรวจยอดการจองห้องพักล่วงหน้าในช่วงสงกรานต์ (11-17 เมษายน 2025) ของสมาคมโรงแรมไทย ณ วันที่ 3 เมษายน 2025 ยังพบว่ายอดการจองห้องพักล่วงหน้าลดลงราว -25%YOY

นักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์ในไทยอย่างใกล้ชิดก่อนตัดสินใจเดินทาง อีกทั้งรัฐบาลในหลายประเทศออกประกาศแนะนำให้พลเมืองที่จะเดินทางมาไทยในช่วงนี้ให้ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลไทยอย่างเคร่งครัด

ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม และปุญญภพ ตันติปิฎก นักวิเคราะห์อาวุโส SCB EIC ประเมินเบื้องต้นว่า ภาคท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบค่อนข้างเร็วในระยะสั้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มลดลงราว 2 แสน – 7 แสนคนตลอดการฟื้นตัว

กรณีที่ 1 Better case :  นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนลดลงราว -9%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 2 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 1.95 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 9.53 พันล้านบาท

กรณีที่ 2 Base case :  นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนลดลงราว -12%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 3 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 4.2 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 2.06 หมื่นล้านบาท

กรณีที่ 3 Worse case :  นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนลดลงราว -15%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 4 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 6.8 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 3.30 หมื่นล้านบาท

ภาครัฐ ต้องเร่งผุดมาตรการ เรียกความเชื่อมั่น หลังแผ่นดินไหว

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หากภาครัฐเร่งออกมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาได้เร็ว โดยประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เดิมที่ 38.2 ล้านคนจะถูกปรับหลังสถานการณ์ท่องเที่ยวมีความชัดเจนมากขึ้น

การเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ทันต่อสถานการณ์จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยภาครัฐควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ไม่ว่าจะเป็นการเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอาคารสูง พร้อมกับประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับข่าวสารและเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ทันต่อสถานการณ์อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะช่วยลดผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้ง ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อีกทางหนึ่ง

สึนามิ ถล่ม 6 จังหวัดใต้ สร้างผลกระทบ นักท่องเที่ยวลดลง

สำหรับภัยธรรมชาติในไทย เคยเกิดขึ้นอย่างเหตุการณ์สึนามิในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2004 ที่สร้างผลกระทบในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงราว 2.9 แสนคนในเดือนมกราคม 2005 หรือราว -26%MOM ซึ่งสวนทางจากภาวะปกติที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนมกราคมจะเติบโตราว 2%-4%MOM

เหตุการณ์นี้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตในระดับเดิมได้ภายใน 3 เดือน ส่วนเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2011 ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นด้วย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงราว 1.3 แสนคนในเดือนพฤศจิกายนหรือราว -9%MOM ซึ่งสวนทางจากภาวะปกติที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตราว 10%-12%MOM ด้วยเช่นกัน แต่เหตุอุทกภัยครั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถฟื้นกลับมาเติบโตได้ภายในเวลา 2 เดือน

การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวหลังเหตุแผ่นดินไหวให้ทันต่อสถานการณ์ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาเติบโตในระดับปกติได้เร็ว แต่อาจจะต้องใช้เวลากว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตได้ในระดับเดิม.