ส่องเนื้อหา พ.ร.ก. ไซเบอร์ ฉบับใหม่ ค่ายมือถือ-แบงก์ ต้องร่วมรับผิดชอบ

ข่าวประชาชนคนไทยถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพไม่เว้นแต่ละวัน สร้างความเสียหายราว 7.798 พันล้านบาท ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (1 มค.-16 เมย. 2568) 

เว็บไซต์  https://www.the-perspective.co/  รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกับต่างประเทศบุกทลายอาณาจักรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในดินแดนพม่า เพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกลวงที่ต้นตอ อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อหลายชาติที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงมาทำงานให้โทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชนได้อีกจำนวนมาก รวมไปถึงการยกระดับการระงับบัญชีให้รัดกุมยิ่งขึ้น

เท่านั้นยังไม่พอ…ล่าสุด หน่วยงานรัฐยังได้ออกกฎหมายเพื่อให้ “ผู้ประกอบการ” มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดต่อประชาชน โดยเมื่อวันที่ 12 เมษายนมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทำให้พระราชกำหนด 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสดีในวาระขึ้นปีใหม่ไทย

พระราชกำหนด 2 ฉบับประกอบไปด้วย พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568

อ.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ขยายความสาระสำคัญของ พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับ ดังนี้

พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 

  • กำหนดให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ต้องร่วมมือในการตรวจสอบและคัดกรองข้อความ SMS ที่เสี่ยงต่อการหลอกลวง เช่น การพนันออนไลน์ หรือชักชวนลงทุนผิดกฎหมาย
  • ลดขั้นตอนการคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ให้ธนาคาร และค่ายมือถือรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันอาชญากรรม รวมทั้งร่วมรับผิดชอบความเสียหาย ทั้งนี้การกำหนดมูลค่าการรับผิดชอบให้เป็นไปตามการพิจารณาของคณะกรรมการ (ภายใต้ ศปอท.)
  • จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.)ในสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประสานงานและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรม
  • เพิ่มนิยามเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล”, “กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อครอบคลุมการก่ออาชญากรรมในโลกดิจิทัล
  • กำหนดให้สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และมีอำนาจเปิดเผยข้อมูลเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงแจ้งรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม

สาระสำคัญ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 

  • กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการแก่บุคคลในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในหรือนอกประเทศ ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
  • กำหนดลักษณะการให้บริการที่ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลในราชอาณาจักร เช่น การใช้ภาษาไทยบนแพลตฟอร์ม หรือใช้โดเมนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ชัดเจน
  • กำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • มีการปรับปรุงเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและความมั่นคงของระบบสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ

สรุปแล้วพระราชกำหนดทั้งสองฉบับนี้มีเป้าหมายหลัก เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมทั้งกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความโปร่งใสและปลอดภัยมากขึ้น เพื่อปกป้องประชาชนจากการถูกหลอกลวงและความเสียหายทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล 

“ทั้งนี้ พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับดังกล่าว ไม่ได้อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งจัดทำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ พรบ.ไซเบอร์แต่อย่างไร” อ.ปริญญา ย้ำปิดท้าย เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด.

ขอบคุณข้อมูล : https://www.the-perspective.co/