การเคหะฯ เดินหน้าลดขยะในชุมชน ร่วมกับจุฬาฯ ศึกษาวิจัยและพัฒนา นำขยะรีไซเคิล มาผสมกับคอนกรีต ลดผลกระทบสภาพแวดล้อม นำไปก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยในอนาคต
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร ของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเคหะแห่งชาติสามารถตอบสนองนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ด้านที่ 5 เรื่องการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว นอกจากเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนทุกช่วงวัยแล้ว ยังมีเรื่องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการหยุดทำร้ายธรรมชาติ และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะในชุมชนที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการนำขยะรีไซเคิลในโครงการที่อยู่อาศัยมาผสมกับคอนกรีตสำหรับก่อสร้างอาคาร เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและเพื่อนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
รศ.ดร. เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะศึกษาและวิเคราะห์ประเภทขยะรีไซเคิลที่เหมาะสม เช่น ขยะพลาสติก นำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตคอนกรีตสำหรับใช้ก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย รวมทั้งศึกษาส่วนผสมคอนกรีตที่จะทดแทนวัสดุธรรมชาติ และวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านต่าง ๆ ในการนำวัสดุรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมในคอนกรีต โดยศึกษาขยะพลาสติก เพราะพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายยากและใช้ระยะเวลายาวนาน สะสมในดิน น้ำ และอากาศ ก่อให้เกิดมลพิษ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน หากนำขยะพลาสติกมาใช้ผสมกับคอนกรีตในการก่อสร้าง จะทำให้ปริมาณขยะลดลงได้ และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
สำหรับผลการศึกษาพบว่า จากการทดสอบประสิทธิภาพของวัสดุก่อสร้างในด้านความแข็งแรงของผนังและแผ่นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป สามารถใช้ขยะพลาสติกรีไซเคิลแทนที่มวลรวมจากธรรมชาติในคอนกรีตได้ 10% โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังของโครงสร้าง โดยเมื่อเปรียบเทียบคอนกรีตปกติ (CON-CA) กับคอนกรีตที่ใช้ขยะพลาสติก 10% ในคอนกรีต 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถประหยัดมวลรวมธรรมชาติได้ 102.5 กิโลกรัม โดยใช้ขยะพลาสติกรีไซเคิล 34.29 กิโลกรัม แทนที่มวลธรรมชาติ
ตัวอย่างบ้านขนาด 100 – 150 ตารางเมตร ใช้คอนกรีตประมาณ 30 – 50 ลูกบาศก์เมตร หากใช้คอนกรีต C-10P สามารถประหยัดมวลธรรมชาติได้ 3 – 5 ตัน ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสามารถนำขยะพลาสติกรีไซเคิลในคอนกรีตช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้ โดยไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพของคอนกรีต ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการจัดการขยะและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ,