ปี 2024 เป็นปีทองของ “ภูเก็ต” ต้องจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะคว้า 2 รางวัลใหญ่ จากงานประกาศรางวัล “IFEA/Haas & Wilkerson Pinnacle Award 2024” จัดขึ้นโดยสมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศผลไปเมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 ก.ย. 2567 (ตามเวลาประเทศไทย) โดยนายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ เป็นผู้รับมอบรางวัล ของจังหวัดภูเก็ตประเทศไทย
สำหรับรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวภูเก็ตและคนทั้งชาติก็คือรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของจังหวัดภูเก็ต ในทุกมิติสำหรับการเป็นเมืองเจ้าภาพแห่งงานอีเวนต์และเทศกาลในระดับโลก และนอกจากรางวัลเมืองเทศกาลโลกแล้ว “ประเพณีถือศีลกินผัก” ยังสามารถคว้ารางวัล “Grand Pinnacle” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากงานนี้ที่มอบให้โดยสมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานอีเวนต์ทุกประเภททั่วโลก รางวัลนี้เปรียบเสมือนออสการ์ของวงการอีเวนต์

การได้รับรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” นั้น ไม่ได้หมายความว่าเมืองนั้นจะต้องเป็นเมืองที่มีจำนวนเทศกาลมากที่สุด หรือเป็นเมืองที่จัดเทศกาลสนุกสนานที่สุด แต่ต้องมองลึกลงไปถึงการหยิบยกเรื่องราว ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของเมืองนั้นที่สะท้อนให้เห็นผ่าน งานเทศกาล ได้อย่างดีเยี่ยม
ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ในตอนนั้น ภูเก็ต กำลังเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องเหมืองแร่ดีบุก ทำให้มีผู้คนมากหน้าหลายตาต่างอพยพเข้ามาทำงาน ค้าขายและตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตจำนวนมาก ทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญในแหลมมลายู ก่อให้เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างลงตัว สะท้อนให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน , อาหาร, วิถีชีวิต, ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวไทยพุทธและชาวมลายูในเวลาต่อมา

แต่การจะเป็นเมืองเทศกาลได้นั้น จะขาดพระเอกหลักอย่างงานเทศกาลไปไม่ได้ โดยงานที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นภูเก็ตอย่างดีที่สุด คือ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” ซึ่งผสมผสานองค์ประกอบต่าง ๆ ที่แตกต่างหลากหลายของประเพณี พิธีกรรม อาหารและความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวภูเก็ต ตลอด 9 วัน ไว้เป็นหนึ่งเดียว สามารถคว้ารางวัลสูงสุด Grand Pinnacle จากเวทีเดียวกันมาได้อีกด้วย
แม้ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ – 9 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลกินเจที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ ก็มี 9 ไฮไลท์หลักที่ทำให้ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” กลายเป็นเทศกาลที่หาที่ไหนไม่ได้บนโลกนี้ เป็นประเพณีที่มีประวัติยาวนาน และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นกันมาเกือบ 200 ปี
จากจุดเริ่มต้นของเทศกาลถือศีลกินผัก เกิดขึ้นเมื่อในวันหนึ่งมีคณะงิ้วรับจ้างจากโพ้นทะเลเดินทางมาแสดงงิ้วให้แรงงานชาวจีนฮกเกี้ยนเหมืองแร่ดีบุกในเมืองกะทู้ จ.ภูเก็ต ได้รับชม แต่หลังจากปักหลักแสดงงิ้วที่นี่อยู่ได้ไม่นาน กลับมีชาวคณะงิ้วล้มป่วยลง ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นเพราะคณะงิ้วของตน ไม่ได้ประกอบ “พิธีเจี๊ยะฉ่าย” หรือ “พิธีถือศีลกินผัก”

ต่อมา คณะงิ้วตัดสินใจทำพิธีถือศีลกินผักอย่างเรียบง่าย เพื่อขอขมาและบูชาเง็กเซียนฮ่องเต้ ราชาธิราชแห่งดวงดาวต่าง ๆ ทั้ง 9 องค์ พร้อมกับงดเว้นการกินเนื้อสัตว์และสุรา เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่ 1 – 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นเวลา 9 วัน ผลปรากฏว่า หลังทำพิธีเสร็จสิ้น ชาวคณะงิ้วหายป่วยเป็นปลิดทิ้ง ทำให้พิธีนี้แพร่หลายไปทั่วเมืองและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา กลายเป็นประเพณีถือศีลกินผักในปัจจุบัน.
