ขบวนเรือแห่รูปหล่อหลวงพ่อปาน ครบรอบ 114 ปี จากวัดมงคลโคธาวาส หรือวัดบางเหี้ยนอก ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ลงทะเลทางปากอ่าว ในวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 12 เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 มีศิษยานุศิษย์ที่ศรัทธาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ประวัติ หลวงพ่อปาน พระอาจารย์ญาณแก่กล้า สมัยรัชกาลที่ 5
หลวงพ่อปาน เป็นชาวบางบ่อ เกิดที่คลองนางโหง ตำบลบางเหี้ย หรือตำบลคลองด่านในปัจจุบัน จ.สมุทรปราการ เมื่อปี 2368 บิดามีเชื้อสายจีน ส่วนมารดาเป็นคนไทย มีพี่น้อง 5 คน โดยหลวงพ่อปาน เป็นคนที่ 3 ชื่อเดิมว่าปาน ก่อนละทางโลกตัดสินใจออกบวชตั้งแต่วัยหนุ่ม ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ” และเมื่อรัชกาลที่ 6 ได้ตราพระราชบัญญัตินามสกุล ทำให้ลูกหลานของหลวงพ่อปาน ใช้ชื่อของบรรพบุรุษมาตั้งเป็นนามสกุลว่า “หนูเทพย์”

ขณะที่หลวงพ่อปาน อุปสมบทเป็นพระที่วัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง ได้ศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงไสยศาสตร์ ได้รับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์หลายองค์ และในเวลาต่อมาได้ย้ายมาจำพรรษายังวัดบางเหี้ยนอก โดยหลวงพ่อปาน ได้ออกธุดงค์ไปสถานที่ต่างๆ พร้อมกับหลวงพ่อเรือน กระทั่งฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแตง เจ้าอาวาสวัดอ่างศิลา จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ และเวทย์มนต์ต่าง ๆ จนหลวงพ่อปานมีความเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องลางของขลัง โดยเฉพาะเขี้ยวเสือโคร่ง แกะเป็นรูปเสือนั่ง


จากนั้นได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางเหี้ยนอก จนเมื่อปี 2452 ประตูน้ำแม่น้ำบางเหี้ย เกิดรั่วไม่สามารถปิดกั้นน้ำได้ และเมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงทราบ ได้เสด็จฯ มาประทับเป็นเวลา 3 วัน และได้รับสั่งให้นิมนต์หลวงพ่อปาน เพื่อถามถึงเรื่องราวต่างๆ ระหว่างนั้นได้มีเด็กชาย ถือพานใส่เขี้ยวเสือที่แกะเป็นรูปเสือ และเมื่อหลวงพ่อปาน เรียกหาไม่พบเขี้ยวเสือในพานแล้ว โดยเด็กชายคนนั้น ตะโกนว่าเสือกระโดดลงน้ำ จนหลวงพ่อปาน ให้นำดินเหนียวปั้นเป็นรูปหมู แล้วเสียบไม้แกว่งล่อเสือขึ้นมาจากน้ำ ต่อหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ 5

ก่อนที่หลวงพ่อปาน จะมรณภาพ ได้มีประชาชนผู้ศรัทธาร่วมหล่อองค์หลวงพ่อปาน เพื่อเคารพบูชา เนื่องจากหลวงพ่อปาน มักออกไปธุดงค์ และไปจำวัดที่อื่น โดยรูปหล่อหลวงพ่อปาน ยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดจนถึงปัจจุบัน บริเวณกุฏิเดิมของหลวงพ่อ และมีเหล่าลูกศิษย์นำน้ำมนต์ หน้ารูปหล่อหลวงพ่อปาน ไปดื่ม และนำทองคำเปลวจากรูปหล่อหลวงพ่อปานไปปิดที่หน้าผาก เชื่อกันว่ารักษาโรคได้มากมาย

หลวงพ่อปาน มรณภาพ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2453 เวลา 4 ทุ่ม 45 นาที และทำพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2454 และแม้เวลาจะผ่านไป 114 ปี ผู้คนในพื้นที่ และต่างพื้นที่ ยังคงหลั่งไหลมากราบไหว้รูปหล่อองค์หลวงพ่อปาน โดยเฉพาะชาวประมง ก่อนจะออกเรือ จะเดินทางมากราบไหว้ เพื่อขอพรให้หาปลาได้ครั้งละมากๆ และเดินทางปลอดภัย ซึ่งในวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี จะมีขบวนแห่รูปหล่อหลวงพ่อปาน ทั้งทางบกและทางทะเล เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ในวันครบรอบวันมรณภาพหลวงพ่อปาน 114 ปี.

เครดิตภาพ : เทศบาลตำบลคลองด่าน