พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้ว อัญเชิญมาจากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มายังประเทศไทย จากความเห็นชอบร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567 และในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568
พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวง เป็น 1 ใน 2 องค์บนโลกมนุษย์ เชื่อกันว่าหากใครได้สักการะจะได้รับอานิสงส์สูงล้น เปรียบเสมือนการได้เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเปิดให้ประชาชนสักการะ ระหว่างวันที่ 5 ธ.ค. 2567 ไปจนถึงวันที่ 14 ก.พ. 2568 ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น.
พระเขี้ยวแก้วของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง 4 องค์
พระเขี้ยวแก้ว เป็นพระสารีริกธาตุในส่วนเขี้ยว หรือพระทาฐะของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ ซึ่งตามลักขณสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ระบุถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์” ตามตำนานจึงเชื่อกันว่าพระเขี้ยวแก้ว มีทั้งหมด 4 องค์ โดย 2 องค์อยู่บนโลกมนุษย์
1. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ประดิษฐานที่พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
2. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานในแคว้นกลิงคะ หรือกลิงคราช นครเก่าแก่ของอินเดียที่เคยรุ่งเรืองมาก ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังลังกาทวีป ซึ่งปัจจุบันคือ วัดพระเขี้ยวแก้ว ดาลดา มัลลิกาวะ ประเทศศรีลังกา
3. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐานในแคว้นคันธาระ ลุ่มแม่น้ำสินธุตอนเหนือและเมื่อครั้นพระภิกษุฟาเหียน ออกจากเมืองจีน เพื่อแสวงหาคัมภีร์พระไตรปิฎกในชมพูทวีป เชื่อกันว่ามีอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองฉางอัน หรือซีอาน ประเทศจีน และต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานภายในวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง
4. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค
พระเขี้ยวแก้ว ยังจัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ที่ไม่แยกกระจัดกระจาย มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น โดยคำภีร์อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร ระบุเป็นส่วนที่ไม่ไหม้ไฟ เช่นเดียวกับพระรากขวัญ หรือกระดูกไหปลาร้า 2 องค์ และพระนลาฏ หรือหน้าผาก 1 องค์ ยิ่งสร้างความศรัทธาเลื่อมใสให้กับพุทธศาสนิกชนที่มีต่อองค์พระเขี้ยวแก้ว เป็นอย่างมาก.
เครดิตภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม