รวมบทสวด บูชาพระเขี้ยวแก้ว อานิสงส์สูงล้น เสมือนเข้าเฝ้าองค์พระพุทธเจ้า

บทสวดบูชาพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้ว มีหลายบท ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย ในโอกาสมีการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เปิดให้ประชาชนสักการะ ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2567 ถึงวันที่ 14 ก.พ. 2568 ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น.

บทสวดบูชาพระเขี้ยวแก้ว พระทาฐะของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่อง “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” 3 จบ แล้วกล่าวคำบูชาแบบสั้น “อะหัง วันทามิ ทูระโต อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส”

หรือบทสวดของวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก หลังจากท่อง “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” 3 จบ ให้กล่าวคำว่า “อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง ตัง ภะคะวันตัง ปะระมะสารีริกธาตุยา สัทธิง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต, โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สุตถา เทวะ มะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ”

นอกจากนี้ยังมีบทสวดของวัดหนองหญ้าปล้อง (วัดป่าทะเมนชัย) อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ให้กล่าวคำว่า  “อุกาสะ วันทามิ ภันเต เจติยัง สัพพัง สัพพัตถะฐาเน สุปะติฏฐิตัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพเจ้าขอถือโอกาส ข้าพเจ้าขอไหว้ซึ่งพระเจดีย์ทั้งหมดอันตั้งไว้ดีแล้วในที่ทั้งปวง

พุทธะสารีรังคะธาตุง มะหาโพธิง พุทธะรูปัง คันธะกุฏิง จะตุราสีติสะหัสเส ธัมมักขันเธ คือซึ่งพระสารีรังคะธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระพุทธรูป ซึ่งพระคันธุกุฏิของพระพุทธเจ้า และซึ่งพระธรรมขันธ์ทั้งหลาย มีแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์

สัพเพตัง ปาทะเจติยัง สักการัตถัง เพื่อสักการะซึ่งพระเจดีย์ คือรอยพระบาทเหล่านั้นทั้งหมดทั้งสิ้น

อะหังวันทามิธาตุโย ข้าพเจ้าขอไหว้พระธาตุทั้งหลาย อะหังวันทามิสัพพะโส ข้าพเจ้าขอไหว้โดยประการทั้งปวง อิจเจตัง ระตะนัตตะยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา ข้าพเจ้าขอไหว้ซึ่งพระรัตนตรัยเหล่านั้นในกาลทุกเมื่อ ด้วยอาการดังนี้แลฯ”


หรือบทสวด “อะหัง วันทามิ อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปะระมะสารีริกะ ทาฐาธาตุง มัยหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว เพื่อต้องการบูชาพระอรหันตะสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลเทอญ”

การสวดบูชาสักการะพระเขี้ยวแก้ว หรือพระบรมสารีริกธาตุ ไม่ว่าจะเป็นบทสวดใดที่ทำด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ เชื่อกันว่าจะได้รับอานิสงส์สูงล้น เปรียบเสมือนการได้เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ.

เครดิตภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม