เที่ยวเหนือ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย เที่ยวไปทำงานไป “ดังรวยเฮง” จัดเต็มสถานที่ท่องเที่ยว แนะนำวัดดัง ไม่ควรพลาด เผื่อหลายคนได้มีโอกาสจะได้แวะเยือน ไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต และได้ท่องเที่ยวคลายร้อน ห้วงเดือนอุณหภูมิปรับขึ้นสูง เรียกว่าร้อนตับแล่บ ก็ว่าได้


เสร็จภารกิจสายมูวัดศรีล้อม จ.ลำปาง กราบสักการะขอพรศาลเจ้าพ่อมหายักษ์สามพันตน ก็ไปต่อวัดประตูป่อง ถนนป่าไม้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง แต่เสียดายวัดโบราณแห่งนี้ เปิดให้เข้าชมโบสถ์ด้านใน เฉพาะเสาร์ อาทิตย์ เท่านั้น จึงเก็บบรรยากาศความสวยงามไม่ได้ทั่วถึง ซึ่งจากข้อมูลประวัติเมืองลำปาง ระบุว่าวัดนี้ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2120 ในสมัยเป็นเมืองเขลางค์นคร ตั้งอยู่บริเวณประตูเมืองรุ่น 2 ในเขตเวียงละคอน นอกประตูป่องประตูเมืองรุ่น 1 และเป็นที่มาของชื่อวัดประตูป่อง



วัดประตูป่อง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปลงรักปิดทอง โบราณสถานเจดีย์ และวิหาร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2409 โดยเจ้าญาณรังษี ราชบุตรในพระเจ้าคำโสม ผู้ครองนครลำปาง ส่วนโบสถ์ มาจากฝีมือช่างสิบสองปันนา มีการผสมผสานศิลปะจีน และภายในวัด ยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ ประตูเมืองโบราณ และซากหอรบสมัยพระยากาวิละ ครองนครลำปาง เมื่อครั้นต่อสู้กับกองทัพพม่า เมื่อ พ.ศ. 2330 ซึ่งยกกำลังพลมาตั้งค่ายทหาร เพื่อล้อมเมือง ทางฝั่งเมืองด้านเหนือ ห่างออกไปประมาณ 8 กิโลเมตร



วิหารหลังคาไม้สักวัดประตูป่อง เป็นศิลปกรรมล้านนาแบบปิด บริเวณด้านหลังวิหารประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ ขนาดไม่ใหญ่มาก ถือเป็นไฮไลท์สำหรับผู้ชื่นชอบสถาปัตยกรรมโบราณ มองเห็นหลังคาด้านหน้าซ้อน 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น มีบันไดมังกรคายนาค เชิงบันไดมีประติมากรรมปูนปั้นรูปสิงห์เฝ้าวิหาร



ภายในวิหาร มีแบ่งพื้นที่พระสงฆ์ อุบาสก และอุบาสิกา อย่างชัดเจน เพื่อการทำบุญในวันพระ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังมีสีสันสดใสงดงาม มีการเล่าเรื่องราวประเพณีสิบสองเดือนของชาวล้านนา เช่น การเก็บเกี่ยวข้าว ประเพณีตานก๋วยสลาก และพิธีกรรมต่าง ๆ
วัดประตูป่อง มีความเงียบสงบ และงดงาม สมคำร่ำลือในด้านสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมล้านนา ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2523 เป็นอีกสถานที่หาชมได้ยากยิ่ง หากใครมาเยือนนครลำปาง ต้องไม่พลาดมาแวะชม อยู่ไม่ไกลจากสุสานไตรลักษณ์ สถานปฏิบัติธรรมในอดีตของหลวงพ่อเกษม เขมโก นักบุญแห่งล้านนา.
