ทรัมป์ หรือแฮร์ริส ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป ชี้ชะตาการเงินโลก ราคาทอง

เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงโค้งสุดท้าย ทั่วโลกจับตาในวันชี้ชะตา 5 พ.ย.นี้ ว่าใครจะชนะระหว่างคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต หรือโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน

จากผลโพลพบว่า ทั้งคู่มีคะแนนนิยมเบียดกันอย่างสูสี และมีการวิเคราะห์คาดการณ์ หากมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 100 เสียง ทรัมป์ จะมีโอกาสได้ 53 เสียง และแฮร์ริส มีโอกาสได้ 47 เสียง นั่นแสดงว่า ทรัมป์มีโอกาสจะชนะ 51.5% เหนือกว่าแฮร์ริส และไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป ก็จะมีผลต่อตลาดการเงินโลก โดยภาพรวมราคาทองคำ ยังมีแนวโน้มขาขึ้น

ทรัมป์ แพ้คะแนนสูสี เสี่ยงวุ่นวายซ้ำรอย หลังเลือกตั้ง

“รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจ ว่า ผลการเลือกตั้งลักษณะใดส่งผลบวกต่อเอเชียและไทยมากที่สุดยังประเมินได้ยาก แต่อาจพอวิเคราะห์ในเบื้องต้นได้ว่า ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งนำไปสู่ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ส่งผลต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก เกิดการชะลอการลงทุนและการบริโภคเพื่อรอดูความชัดเจน และต้องติดตามว่าหลังประกาศผลเลือกตั้งจะมีความวุ่นวายเช่นเดียวกับ 4 ปีที่แล้วหรือไม่

“มีความเสี่ยงของความวุ่นวายหลังการเลือกตั้ง หากทรัมป์ แพ้เลือกตั้งด้วยคะแนนสูสีมากๆ อาจจะมีการกล่าวหาเรื่องโกงการเลือกตั้ง การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและมีการชุมนุมประท้วงของมวลชน อาจนำมาสู่ความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินโลก หากสถานการณ์ยืดเยื้อและมีความรุนแรงจะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและค่าเงินดอลลาร์ได้”

รัฐบาลใหม่สหรัฐฯ คุมเสียงอย่างเด็ดขาดไม่ได้ ทั้งสองสภา

หากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ออกมาในลักษณะพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นทั้งประธานาธิบดีและครองเสียงข้างมากของรัฐสภาสหรัฐฯ จะทำให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะมีทรัมป์ หรือแฮร์ริส เป็นประธานาธิบดีก็ตาม มีความราบรื่นและสามารถผ่านกฎหมายได้ง่าย ผลกระทบต่อตลาดการเงินโลก เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจเอเชียและไทยอย่างใดอย่างหนึ่งจะชัดเจนกว่า หากผลการเลือกตั้งออกมาในลักษณะที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมากในสภาคองเกรส

กรณีแบบนี้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ จะถูกตรวจสอบถ่วงดุลและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ผลกระทบของนโยบายของรัฐบาลใหม่ต่อตลาดการเงินโลกและเศรษฐกิจจึงมีจำกัด ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา 468 ท่านแบ่งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) 435 ท่าน    สมาชิกวุฒิสภา (สภาสูง) 34 ท่าน เวลานี้ ไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดคุมเสียงข้างมากเด็ดขาด พรรคแดโมแครตมีเสียงข้างมากในวุฒิสภา (51 ต่อ 49)

ขณะที่พรรครีพับรีกัน มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (220-212) ผลของการเลือกตั้งที่เป็นไปได้มากที่สุด ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีก็ตาม รัฐบาลใหม่จะไม่สามารถคุมเสียงเด็ดขาดได้ทั้งสองสภา การผ่านกฎหมายหรือการดำเนินนโยบายจะมีถูกถ่วงดุลและต่อรองไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ตามที่ได้หาเสียงเอาไว้อย่างแน่นอน

ด้านความวิตกกังวลต่อผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าต่อเศรษฐกิจและระบบการค้าโลกของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะมากเกินไป เพราะสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น ก็คือ นโยบายการขึ้นกำแพงภาษีขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเป็น 100% จากประเทศที่ไม่ใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการค้าระหว่างประเทศ การขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 60% สำหรับสินค้าจีน หรือการขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 10-20% สำหรับสินค้าทุกประเภทจากประเทศอื่น ๆ อาจไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นโดยง่าย ฉะนั้น ผลกระทบต่อระบบการค้าเสรีของโลก จึงไม่อาจเกิดขึ้นทันทีและอาจไม่รุนแรงอย่างที่วิตกกังวลกัน

ทรัมป์ กลับเข้ามา อาจกีดกันทางการค้าต่อไทยอีก

ประเมินว่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งแล้วขึ้นภาษีนำเข้า 60% ต่อสินค้าจีนอาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนอาจลดลงได้ถึง 0.50%  ส่วน ไทยนั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกินดุลการค้าสหรัฐฯมาโดยตลอด หากทรัมป์กลับเข้ามามีอำนาจมีโอกาสที่สหรัฐฯอาจใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อไทย เพื่อลดการขาดดุลของสหรัฐฯ และไทย เคยถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสหรัฐฯในสมัยทรัมป์ว่ากดค่าเงินบาทให้อ่อน เพื่อกระตุ้นการส่งออก ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าเป็นการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม

นโยบายการปรับลดภาษีทั้งนิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลของรัฐบาลทรัมป์ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นเดียวกัน เพราะจะถูกถ่วงดุลโดยรัฐสภาที่ไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด และข้อจำกัดเพดานหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่หากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้า และลดภาษีเงินได้เกิดขึ้น จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ หากมีการตอบโต้ขึ้นกำแพงภาษีจากประเทศคู่ค้า จะกดดันต่อปริมาณการค้าโลกให้ชะลอตัวลง ส่งผลลบให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ผู้ผลิตภายในสหรัฐฯและผู้ใช้แรงงานอาจได้ผลประโยชน์ระยะสั้น จากการปกป้องทางการค้า แต่ระยะยาวแล้วอาจไม่เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวม ส่วนผู้บริโภคต้องซื้อของแพงขึ้น อีกด้านหนึ่ง นโยบายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทต่างๆโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์โดยตรง ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากและจะเกิดฟองสบู่ของราคาหลักทรัพย์ ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นผลจากปัจจัยทางนโยบายภาษีไม่ได้เป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานทางด้านผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นหลัก

นอกจากนี้อาจมีการเสนอให้ถอดถอนสถานะการค้าปกติ หรือ PNTR กับจีน ซึ่งสถานะดังกล่าวเป็นประโยชน์สำหรับจีนในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก การพิจารณาถอดถอนดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้โดยง่ายเพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส และรัฐบาลทรัมป์ยังมีนโยบายปรับลดอัตราภาษีธุรกิจลงระหว่างร้อยละ 15 – 20 จากเดิมอัตราร้อยละ 21 ที่ได้ปรับลดจากร้อยละ 34 ในสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐของสหรัฐฯและรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคม

นโยบายด้านภาษีของรัฐบาลแฮร์ริสจะแตกต่างจากรัฐบาลทรัมป์อย่างชัดเจน เนื่องจากพรรคโดเมแครต เสนอให้เพิ่มภาษี แต่เพิ่มการลงทุนในระบบสวัสดิการและระบบโครงสร้างพื้นฐาน มีการวางแผนจะปรับอัตราภาษีธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดิม อาจมีส่วนช่วยให้ฐานะทางการคลังดีขึ้น การขาดดุลงบประมาณลดลง แต่ไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นและผลประกอบการของธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะภาษีเพิ่มขึ้นอีก 7% และการปรับเพิ่มอัตราภาษีสำหรับกำไรส่วนต่างจากการขายสินทรัพย์ จากเดิมอัตราร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 28 คาดว่า จะทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯมายังตลาดหุ้นภูมิภาคและไทยมากขึ้น

แฮร์ริส ชนะ ยังคงเก็บภาษีนำเข้า ตอบโต้จีน เช่นเดิม

อีกด้านหนึ่ง หากแฮร์ริส ชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำสหรัฐฯ จะมีการดำเนินนโนบายตามรัฐบาลโจ ไบเดน ในการตอบโต้ทางการค้าจีน ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรายการเดิม รวมถึงกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่งประกาศเพิ่มในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในกรณีความขัดแย้งกับประเทศคู่ค้าในกลุ่มสินค้าเหล็กและเครื่องบินพาณิชย์ สหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีและมีแนวโน้มเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ประเมินในเบื้องต้น ไม่ว่าจะได้รัฐบาลทรัมป์ หรือ รัฐบาลแฮร์ริส ไทยและอาเซียน จะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังภูมิภาคมากขึ้น ส่วนสินค้าส่งออกที่เป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกับจีน อาจได้รับผลกระทบในการส่งออกระดับหนึ่ง การปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าบางตัวจากจีน จะทำให้สหรัฐฯ หันมาผลิตในประเทศมากขึ้น และนำเข้าจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและอาเซียนมากขึ้น อีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าบางประเภท อาจย้ายฐานผลิตมายังไทยและอาเซียนมากขึ้น

“ทว่าอาจหนีไม่พ้นผลกระทบจากสงครามการค้า เพราะอาจต้องเผชิญกับมาตรการ ตอบโต้การค้าไม่เป็นธรรมเพิ่มเติม เหมือนธุรกิจ ผลิตหรือส่งออก Solar Cells จากไทยหรืออาเซียนเจอตอบโต้ผ่านมาตรการ Anti-Circumvention เนื่องจากมีการย้ายมาผลิต หรือประกอบบางส่วน หรือ ดัดแปลงบางส่วน หรือ ส่งออกผ่านประเทศตัวกลางเพื่อเลี่ยงภาษี”

เทียบนโยบายแฮร์ริส กับทรัมป์ ส่งผลต่อไทยอย่างไร?

หากเปรียบเทียบนโยบายระหว่างแฮร์ริส กับทรัมป์ แล้วพบว่า นโยบายการตอบโต้ทางการค้าจีนของทรัมป์จะเข้มข้นมากกว่า แต่ไทยซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเกินดุลสหรัฐฯ สูงก็อาจจะเป็นเป้าหมายในการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ได้ในอนาคต ดังที่สหรัฐฯ ได้เคยดำเนินมาตรการกดดันไทย โดยไทยเคยเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศที่สหรัฐฯ เปิดการไต่ส่วนประเด็นการค้าเกินดุลสหรัฐฯ สูง รวมถึงเคยถูกระงับสิทธิ์ GSP สินค้าไทยทั้งสิ้น 573 รายการในช่วงทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ไทยเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะส่งดีต่อไทยในระยะยาว เป็นการดำเนินกุโศบายต่างประเทศที่ดี เพราะเป็นการเพิ่มการถ่วงดุลในระบบพหุขั้วอำนาจโลก ที่ไม่ใช่ระบบโลกที่สหรัฐฯเป็นผู้นำหนึ่งเดียว สหรัฐฯจะดำเนินนโยบายให้ประโยชน์กับไทยมากขึ้นเพื่อไม่ให้ไปใกล้ชิดกับขั้วอำนาจ BRICS มากเกินไป ขณะที่เวทีก็จะเป็นประโยชน์กับไทย ในการเจรจาต่อรองกับชาติตะวันตกและสหรัฐฯ จะเกิดระบบโลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรมมากขึ้น ลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ ถ่วงดุลชาติตะวันตก ทำให้ราคาทองคำขาขึ้นยาวนานต่อไป  และคาดว่าเงินสกุลเอเชียจะแข็งค่าขึ้น.