หัวใจวายเฉียบพลัน อายุน้อยก็มีความเสี่ยง ย้ำต้องดูแลตัวเองก่อนสาย

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของพัคมินแจ นักแสดงหนุ่มชาวเกาหลีใต้ วัยเพียง 32 ปี จากอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในประเทศจีน ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับแฟนๆ ทั่วโลก ไม่เพียงแต่คนดัง คนอายุน้อยในยุคปัจจุบัน ก็มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือแม้แต่นักกีฬาที่มีสุขภาพแข็งแรง ยังพบว่าเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน  ได้เวลาที่ทุกคนจะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในยุคที่ความเสี่ยงสุขภาพไม่จำกัดเรื่องอายุ

เครดิตภาพ bigtitle_official

สำหรับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นภาวะที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ต่างกับภาวะหัวใจวาย เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และไม่สามารถปั๊มเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ จากข้อมูลสมาพันธ์หัวใจโลก ชี้ว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก มีจำนวนมากกว่า 20.5 ล้านคนต่อปี และ 85% ของการเสียชีวิตเกิดจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง ในประเทศไทยจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 2.5 แสนราย และเสียชีวิต ด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 4 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 คน 

อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย เช่น เจ็บหน้าอก จุกแน่นกลางอก เจ็บร้าวหัวไหล่ซ้าย แขน หรือกราม ใจสั่น เหงื่อแตก เป็นลม หมดสติ หากใครมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 หรือโรงพยาบาล กู้ภัยที่ใกล้ที่สุด

หากผู้ใกล้ชิดเห็นผู้ป่วยหมดสติควรรีบทำการกดหน้าอก เริ่มด้วยการหาตำแหน่งครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก วางนิ้วมือทั้งสองถัดจากจุดนั้นขึ้นไป แล้ววางมือทาบอกบนอีกมือหนึ่ง หรืออาจประสานนิ้ว แล้วกดหน้าอกแล้วปล่อย ทำติดต่อกัน 30 ครั้ง อย่างอแขน โน้มตัวไปข้างหน้าให้ช่วงไหล่อยู่เหนือร่างผู้หมดสติ เพื่อให้ทิศของแรงกดดิ่งลงสู่หน้าอก

หลายสาเหตุ ทำให้หัวใจวายเฉียบพลัน

หัวใจวายเฉียบพลัน หรือ Acute Myocardial Infarction (AMI) เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงาน โดยสาเหตุเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารขยะ มีภาวะเครียดเรื้อรัง กระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว รวมถึงการขาดการออกกำลังกาย ลดความสามารถของระบบไหลเวียนเลือด มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและเกิดจากกรรมพันธุ์ ภัยเงียบที่หลายคนไม่รู้ตัว

ทำไมคนอายุน้อย มีความเสี่ยง วิธีป้องกันทำอย่างไร

ปัจจัยเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันในคนรุ่นใหม่ที่อาจคาดไม่ถึง จากไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ กินอาหารไม่เป็นเวลา พักผ่อนไม่เพียงพอ มีการทำงานหนัก นอนดึกและมีภาวะเครียดสะสม โดยเฉพาะการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตัน  และที่สำคัญอย่าให้ตัวเองมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง และเป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจเป็นอย่างมาก

วิธีป้องกันและดูแลตัวเอง นอกจากเลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เฉลี่ย 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ออกกำลังกายมากเกินไป เพราะจะไปเพิ่มภาระให้ระบบหัวใจและปอดต้องทำงานอย่างหนัก นอกจากนี้ควรลดอาหารไขมันสูง เพิ่มผักผลไม้และธัญพืช มีการตรวจสุขภาพประจำปี เช็กความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด และน้ำตาล

สัญญาณเตือน ไม่ควรมองข้าม ต้องพบแพทย์ทันที

หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหมือนมีอะไรมาทับ จุดแน่นใต้ลิ้นปี่ เหงื่อออกผิดปกติ ใจสั่น หายใจติดขัดหรืออ่อนเพลียอย่างรุนแรง อาจปวดร้าวไปถึงคอ ขากรรไกร ไหล่ หรือแขนด้านซ้าย เป็นสัญญาณเตือนควรรีบพบแพทย์ในทันที และจากการเสียชีวิตของพัคมินแจ เป็นบทเรียนสำคัญที่เตือนให้เราไม่ประมาทเรื่องสุขภาพ การดูแลตัวเองเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ อย่ารอให้สายเกินไป.