แสงปริศนา หัวค่ำ 16 ธันวา เหนือน่านฟ้าไทย อาจเป็นจรวดจีน

แสงปริศนาเหนือน่านฟ้าประเทศไทย ลักษณะสีขาวพร่ามัว เคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ พบเห็นในหลายพื้นที่ ช่วงหัวค่ำ 16 ธ.ค. 2567 จากภาพถ่าย และคลิปวิดีโอ มีการแชร์เป็นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย ล่าสุดสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ออกมาเปิดเผย มีลักษณะสอดคล้องกับชิ้นส่วนจรวดตอนบน ของจรวดลองมาร์ช 5บี  (Long March 5B) ถูกปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวด บนเกาะไหหลำ ประเทศจีน

ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอเป็นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 19.00 น.  ตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย ปรากฏแสงปริศนา มีลักษณะเป็นแสงสีขาวพร่ามัว รูปร่างเป็นโคนคล้ายดาวหาง เคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ พบเห็นได้หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางตอนบน

จากหลักฐานภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่มีการแชร์เป็นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย  ด้วยรูปพรรณสัญฐานที่ปรากฏ และเวลาที่พบเห็นสอดคล้องกับลักษณะของชิ้นส่วนจรวดตอนบน ของจรวดลองมาร์ช 5บี  ถูกปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวด บนเกาะไหหลำ ประเทศจีน ภายใต้ภารกิจ SatNet LEO Group 1

ลักษณะของแสงปริศนาดังกล่าว มีสีออกขาว มีจุดสว่างหนึ่งจุดพร้อมกับโคนที่ฟุ้งออกไปเป็นวงกว้าง ดูคล้ายกับภาพถ่ายดาวหาง แต่มีความสว่างกว่าเป็นอย่างมาก อีกทั้งวัตถุดังกล่าวเคลื่อนที่ได้ โดยเคลื่อนที่ช้า ๆ เยื้องไปทางทิศเหนือ สอดคล้องกับวัตถุจำพวกชิ้นส่วนจรวดตอนบน ที่ดับแล้ว โดยจะมีชิ้นส่วนของตัวถังเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์จรวด พร้อมกับแก๊สขับดันที่ถูกปล่อยออกมาแล้ว เคลื่อนที่ไปพร้อม ๆ กัน โดยในบางครั้งตัวจรวด อาจจะยังคงมีพลาสมาที่หลงเหลืออยู่ปล่อยออกมาบ้างเล็กน้อย และส่องสว่างเรือง ๆ เป็นสีฟ้าจาง ๆ แต่หากพบเห็นในช่วงหัวค่ำ อย่างในกรณีของเมื่อค่ำวันที่ 16 ธ.ค. อาจจะสะท้อนแสงอาทิตย์ปรากฏเป็นสีขาว

เหตุการณ์ในครั้งนี้ มีจรวดเพียงลำเดียวที่ถูกปล่อยจากฐานปล่อยจรวดทั่วโลกในวันที่ 16 ธันวาคม 2567 นั่นคือจรวดลองมาร์ช 5บี   ปล่อยออกจากฐานบนเกาะไหหลำ ประเทศจีน เมื่อเวลา 17.00 น.  ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเป็นเวลาประมาณสองชั่วโมงก่อนที่คนไทยจะพบเห็นแสงปริศนาดังกล่าว

“ปกติแล้วจรวดที่ปล่อยออกจากพื้นโลก จะเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออก เพื่อใช้ประโยชน์จากทิศทางการหมุนของโลกในการลดเชื้อเพลิง ดังนั้นจรวดลองมาร์ช 5บี   ของจีน จึงไม่ได้ผ่านเหนือน่านฟ้าประเทศไทยโดยตรงระหว่างการขึ้น”

ภารกิจของจรวดนี้เป็นการส่งดาวเทียมเครือข่าย (constellation satellite) เพื่อภารกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลภายใต้เครือข่าย GuoWang ของจีน ซึ่งจะต้องอาศัยแรงขับดันหลักจากจรวดตอนบนในการเดินทางไปยังวงโคจรต่ำของโลก ก่อนที่ดาวเทียมจะถูกปล่อยออกไป ทำให้ภายหลังจากที่สิ้นสุดภารกิจแล้ว ชิ้นส่วนจรวดตอนบน เชื้อเพลิงบางส่วนที่ถูกขับออกมา และพลาสมาที่ถูกปล่อยทิ้งออกมาในภายหลัง จะเคลื่อนที่ต่อไปในวงโคจรต่ำของโลก ใช้เวลาในการโคจรรอบโลกหนึ่งรอบ เพียงเวลาประมาณ 90-120 นาที

“เวลาดังกล่าวสอดคล้องกับเวลาที่พบเห็นทั้งจรวดและเชื้อเพลิงเหนือน่านฟ้าประเทศไทย หลังจากเวลาปล่อยจรวดออกจากฐานประมาณสองชั่วโมงพอดี จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะมาจากชิ้นส่วนตอนบนของจรวดลองมาร์ช 5บี ของจีน ซึ่งหลังจากที่จรวดและเชื้อเพลิงโคจรรอบโลกไปสักพักหนึ่ง แรงต้านจากชั้นบรรยากาศตอนบนของโลก จะทำให้ชิ้นส่วนดังกล่าวค่อย ๆ เคลื่อนที่ช้าลง จนไม่สามารถคงวงโคจรต่ำอีกต่อไปได้ ก่อนที่จะเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศระหว่างที่ตกกลับลงมาภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลกไปในที่สุด”.