เครื่องจักสานไม้ไผ่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองพนัสนิคม แวะชมสตรีทอาร์ต วิถีชุมชน (คลิป)

มาเที่ยวพนัสนิคม เมืองผ่านจังหวัดชลบุรี ต้องไม่พลาด มาดูมาชมมาซื้อเครื่องจักสาน วัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านงานจักสานด้วยไม้ไผ่ของชาวพนัส ที่สืบสานกันมานานรุ่นต่อรุ่น เริ่มจากศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ ย่านถนนอินทอาษา ใกล้กับศาลเจ้าแม่ฉื่อปุยเนี้ยว และที่ว่าการอำเภอพนัสนิคม เรียกได้ว่าเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่มีกลิ่นอายของวิถีชุมชน มีการเล่าเรื่องราวผ่านศิลปะสตรีทอาร์ต ก่อนไปต่อศูนย์เครื่องจักสานใหญ่ที่สุดในโลก ถนนจันทร์อำนวย  เพื่อดูให้เห็นว่าใหญ่ที่สุดในโลกจริงหรือ?

งานนี้ถ้าไม่ได้รับคำแนะนำจาก ”ปณิดา พันธุ์โชติ” นายอำเภอพนัสนิคม คงไปไม่ถึงสถานที่เหล่านี้ เพราะขับรถวนเวียนในย่านตลาดเก่าอยู่หลายรอบไม่เจอซักที และได้ประสานงานให้ ”น้องหนู” รัชพล รุจิกรธราดล พนักงานจ้างเทศบาลเมืองพนัสนิคม มาเป็นไกด์และให้ข้อมูลเป็นอย่างดี ยิ่งทำให้รู้ถึงเสน่ห์เมืองพนัสนิคม ว่าน่าท่องเที่ยวอย่างไร

ย้อนไปในอดีต ชาวอำเภอพนัสนิคมส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา หาปู หาปลา มาเป็นอาหาร จึงนำไม้ไผ่ที่หามาในละแวกที่อยู่อาศัย นำมาตัดสานทำเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ในการจับสัตว์น้ำ เช่น ไซ ตุ้ม ลอบ รวมถึงตะแกรงเอาไว้ใช้ช้อน กุ้ง หอย ปู ปลา ตามหนองน้ำ ต่อมาได้พัฒนามาเป็นฝาชีครอบกับข้าว ป้องกันแมลงต่างๆ เข้ามาตอมอาหาร จนถึงปัจจุบัน และยังคงรักษางานฝีมือของท้องถิ่น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนกลายเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องเครื่องจักสาน โดยเฉพาะตะกร้าไก่ เอกลักษณ์ของเมืองโบราณพระรถ

ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

สำหรับศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ ถนนอินทอาษาก่อตั้งเมื่อปี 2521 สืบเนื่องมาจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีโครงการส่งเสริมและอนุรักษ์ฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ที่มีฝีมือละเอียดอ่อน และมีความประณีตสวยงาม เพื่ออนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป เป็นจุดเริ่มที่ปรานี บริบูรณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นภรรยานายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองพนัสนิคม ทำการรวบรวมช่างฝีมือในพื้นที่ ตั้งกลุ่มหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ภายในบ้านพัก

ภายหลังปรานี บริบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจักสานไม้ไผ่เสียชีวิตเมื่อปี 2544 คมกฤช บริบูรณ์ บุตรชาย ได้สานต่อภารกิจแหล่งให้ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ และผลิตผลงานอย่างปราณีตสวยงามระดับไฮเอนด์ โดยเฉพาะกระเป๋าลายดอกพิกุล มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มีการจัดโซนพื้นที่แสดงผลิตภัณฑ์ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ ซึ่งต้องบอกว่าสวยงาม มีความปราณีต และหรูหราจริงๆ มีกลุ่มลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง

ก่อนไปต่อศูนย์เครื่องจักสานใหญ่ที่สุดในโลก ถนนจันทร์อำนวย ในละแวกใกล้ๆ กัน ได้แวะชมศิลปะสตรีทอาร์ต โดยฝีมือคนรุ่นใหม่ บอกเล่าวิถีชีวิตของคนในชุมชนพนัสนิคม ซึ่งมี 3 เชื้อชาติ ไทย จีน และลาว ก็ต้องบอกว่าทึ่งมากในผลงาน เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชื่นชมงานศิลปะ บางคนจิบกาแฟในร้านเก๋ๆ เสร็จ ก็ทอดน่องเดินชม เป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินไม่ควรพลาด

ที่มาศูนย์เครื่องจักสานใหญ่ที่สุดในโลก งานประเพณีชุมชน

ประมาณเกือบบ่ายสาม ไปถึงศูนย์เครื่องจักสานใหญ่ที่สุดในโลก อีกแหล่งเรียนรู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านงานจักสานด้วยไม้ไผ่ จากการรวมตัวของชาวบ้านในการจัดตั้งกลุ่มจักสานชุมชนย่อยที่ 1 ในปี 2544 เพื่อผลิตผลงานและพัฒนาสินค้า ในการจำหน่ายสร้างรายได้ในชุมชน และต่อมาปราณี มูลผลา ในฐานะประธานกลุ่ม มีแนวคิดนำเครื่องจักสานที่ใช้ในงานประเพณีของชุมชน มาจัดแสดง

นำไปสู่การก่อตั้งศูนย์จักสานใหญ่ที่สุดในโลก เพื่ออนุรักษ์งานเครื่องจักสานไม่ให้สูญหาย มีการจัดแสดงเครื่องจักสานขนาดใหญ่ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องจักสาน เช่น ครุฑ กล่องข้าวน้อย บ้านจักสาน ตะกร้าสาน เป็นต้น รวมถึงโซนเรียนรู้ต่างๆ และจำหน่ายสินค้าหลายหลาก จากผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ให้กับนักท่องเที่ยวและคนทั่วไป

งานนี้ ”ดังรวยเฮง” จัดไปอยากได้อะไรก็ซื้อไปฝากเพื่อนฝูง ฝาชีครอบกับข้าว ก็น่าสนใจ ของที่ระลึกสุ่มไก่ขนาดเท่าฝ่ามือ มีไก่ 2 ตัวข้างใน ก็กิ๊บเก๋ มีหลายอย่างให้เลือก หากใครมาท่องเที่ยวพนัสนิคม ไม่ควรพลาดแวะมาชมมาดู ซื้อติดไม้ติดมือ มาอุดหนุนสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ก่อนไปเที่ยวต่ออีกหลายสถานที่ แล้วจะอดรักเมืองพนัสนิคมไม่ได้ ติดตามกันต่อเนื้อหาต่อไป ยังไม่จบเรื่องราวในเมืองแห่งนี้.

เที่ยววัดหลวงพรหมมาวาส มหัศจรรย์ฝูงค้างคาวแม่ไก่ มหาศาล