สภาพอากาศเช้าวันที่ 28 มี.ค. หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีฝนตก และจากรายงานกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า พบกลุ่มฝนบริเวณเขตสายไหม คันนายาว บางเขน ดอนเมือง ปทุมธานี โดยกลุ่มฝนเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนทางตะวันออกเล็กน้อย เข้าปกคลุมเขตสายไหม คลองสามวา ปทุมธานี หลังจากนั้น 08.30–09.00 น. กลุ่มฝนเริ่มอ่อนกำลัง และยังคงปกคลุมจ.ปทุมธานี คาดว่าปกคลุมประมาณ 30 นาที
ขณะที่พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ยังมีผลกระทบในบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 29 มี.ค. -1 เม.ย. 2568 โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 5 ว่า บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบพายุฤดูร้อน
วันที่ 29 มี.ค. 2568
ภาคเหนือ: จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดบึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี และสระบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด
วันที่ 30 มี.ค. 2568
ภาคเหนือ: จังหวัดตาก แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 31 มี.ค. – 1 เม.ย. 2568
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก และกำแพงเพชร
ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. – 2 เม.ย. 68 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้ตอนล่าง อ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า ฝนตกสลับร้อน
กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดว่าในช่วงวันที่ 29 มี.ค.-4 เม.ย. จะมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคอีสาน ประกอบกับประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลมฝ่ายตะวันตกยังพัดปกคลุมภาคเหนือ และลมใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดสอบเข้าหากัน ปกคลุมบริเวณภาคกลาง กทม.และปริมณฑล ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในระยะแรก เป็นพายุฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บเกิดขึ้นได้ เริ่มทางภาคอีสาน และภาคตะวันออก
ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป พี่น้องเกษตรกรชาวสวนต้องเฝ้าระวัง พายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรง สำหรับภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วงวันที่ 2-4 เม.ย. จากลมตะวันออกที่พัดปกคลุม เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลอันดามัน อากาศที่ร้อนจัดคลายร้อนได้บ้าง
ช่วง 5-11 เม.ย. ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ยังมีฝนสลับกับอากาศร้อน เป็นระยะๆ ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ฤดูร้อนปีนี้คาดว่าอากาศจะไม่ร้อนแรงเหมือนปีที่แล้ว จะมีอากาศร้อนเป็นช่วงๆ และมีพายุฤดูร้อนมาสลับในบางวัน ต้องระวังพายุฤดูร้อน มาเร็ว แรง อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
แม้ปริมาณฝนในระยะนี้อาจจะไม่มากนัก แต่พอช่วยให้บางพื้นที่มีความชุ่มชื้น คลายร้อนได้ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่มีฝนน้อย หากมีฝนตกควรหาภาชนะสำรองน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรอาจยังไม่เพียงพอในฤดูร้อนนี้.