สภาพอากาศในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยตอนบน ต้องเฝ้าระวังพายุฤดูร้อน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 11 เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน” มีผลกระทบบางพื้นที่ จนถึงวันที่ 1 เม.ย. 2568 บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
เนื่องจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง
ส่วนเกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้ไม้ผล และเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพ ในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย
เตือนหลายจังหวัด คาดจะได้รับผลกระทบพายุฤดูร้อน
วันที่ 31 มี.ค. 2568
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก และกำแพงเพช
ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
วันที่ 1 เม.ย. 2568
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และตาก
ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี
ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. – 3 เม.ย. จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนผ่านภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ ลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
พยากรณ์ 15 วันล่วงหน้า ฝนสลับ อากาศร้อน
สำหรับการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 31 มี.ค.-14 เม.ย. โดยช่วงวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย. มวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง ได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคอีสานและทะเลจีนใต้ ประกอบกับประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลมฝ่ายตะวันตกยังพัดปกคลุมภาคกลางด้านตะวันตก และมีลมใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดสอบเข้าหากัน ปกคลุมบริเวณภาคกลาง กทม.และปริมณฑล ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง บริเวณประเทศไทยตอนบน ต้องเฝ้าระวังพายุฤดูร้อน
ช่วงวันที่ 1-4 เม.ย. ลมตะวันออกที่พัดปกคลุม เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลอันดามัน ต้องเฝ้าระวัง และติดตามประกาศเตือนภัย จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด อากาศที่ร้อนจัดคลายร้อนได้บ้าง จากนั้นวันที่ 5-14 เม.ย. ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ยังมีฝนสลับกับอากาศร้อน เป็นระยะๆ ทิศทางลมแปรปรวน และยังมีลมตะวันตกพัดปกคลุมทางภาคเหนือ ภาคกลางทางด้านตะวันตก ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ฤดูร้อนปีนี้คาดว่าอากาศจะไม่ร้อนแรงเหมือนปีที่แล้ว จะมีอากาศร้อนเป็นช่วงๆ และมีพายุฤดูร้อนมาสลับในบางวัน ต้องระวังพายุฤดูร้อน มาเร็ว แรง อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แม้ปริมาณในระยะนี้อาจจะไม่มากนัก แต่พอช่วยให้บางพื้นที่มีความชุ่มชื้น คลายร้อนได้ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่มีฝนน้อย.