เมื่อ 9 เม.ย. 2025 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal Tariffs) ออกไปอีก 90 วัน เพื่อเปิดให้ประเทศคู่ค้าเจรจาลดอัตราภาษี ขณะยังคงเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำ (Universal Tariffs) 10% กับทุกประเทศ (ยกเว้นแคนาดา-เม็กซิโก) เริ่มใช้ 5 เม.ย. ทันที
แม้การเลื่อนเวลาจะช่วยลดแรงกดดันระยะสั้น แต่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เตือนว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกยังสูง จากชุดภาษีชุดใหญ่ที่สหรัฐฯ ประกาศไว้เมื่อ 2 เม.ย. โดยเฉพาะกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างมาก เช่น จีนและไทย ซึ่งโดนภาษีตอบโต้สูงถึง 36% ติดอันดับ 20 จาก 185 ประเทศ
ไทยโดนผลกระทบหนัก ส่งออกอาจลด-จีดีพีชะลอ
SCB EIC ประเมินว่าไทยจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนถึง 18.3% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าไทย 36% จริง GDP ไทยอาจลดลง -3.3 เปอร์เซ็นต์ภายใน 3 ปี
นอกจากนี้ยังต้องรับแรงกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและประเทศในอาเซียนที่ต่างก็โดนภาษีสหรัฐฯ สูงเช่นกัน ทำให้ไทยเผชิญทั้ง “Income Effect” (สหรัฐฯ นำเข้าลดลง) และ “Substitution Effect” (ไทยเสียเปรียบคู่แข่งด้านราคาสินค้า)
เศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอยมากขึ้น
SCB EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2025 จะเติบโตเพียง 2.2% จาก 2.8% ในปี 2023 และมีความเสี่ยง 35-50% ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจโตต่ำกว่าศักยภาพ เหลือเพียง 1.3% จากผลสะท้อนของกำแพงภาษีของตนเอง
สรุป แม้เปิดเจรจาขึ้นภาษี 90 วัน แต่ความไม่แน่นอนยังสูง
- ไทยโดนภาษีสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกและอาเซียน
- ส่งออกไทยเสี่ยงลดลงทั้งทางตรงและอ้อม
- GDP ไทยปีนี้คาดโตเพียง 1.5% จากเดิม 2.4%
- ต้องจับตาผลการเจรจาภาษีใน 3 เดือนข้างหน้า