เตือน!! กองทุนประกันสังคม เสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปี หากไม่ปฏิรูป

กองทุนประกันสังคมจัดตั้งมากว่า 34 ปี โดยมีการสนับสนุนจากเงินสมทบสามฝ่าย ได้แก่ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ครอบคลุมแรงงานในระบบกว่า 13.7 ล้านคน โดยแบ่งเป็น มาตรา 33 จำนวน 11.9 ล้านคน มาตรา 39 จำนวน 1.6 ล้านคน และมาตรา 40 จำนวน 0.9 ล้านคน ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี เช่น สิทธิประโยชน์ในการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ บำนาญชราภาพ และสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน

ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงกองทุนชราภาพ ล้มละลาย


รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาการเงินการคลัง คณะกรรมการประกันสังคม เตือนว่า กองทุนชราภาพมีความเสี่ยงขาดเงินในอนาคตหากไม่มีการปฏิรูป เนื่องจากแนวโน้มประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้นและอายุเฉลี่ยยาวขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงขึ้นกว่าเดิม และความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ช่วงเวลาของการรับเงินบำนาญยาวขึ้นอย่างก้าวกระโดด “ บางท่านได้รับสิทธิบำนาญยาวนานกว่าช่วงเวลาการจ่ายสมทบ อยู่ที่ 7,500 บาทต่อเดือน

ขณะที่จำนวนผู้จ่ายสมทบลดลง ทำให้ค่าใช้จ่ายไหลออกเกินเงินไหลเข้า กองทุนอาจไม่สามารถจ่ายบำนาญได้ตั้งแต่ปี 2597 หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างเหมาะสม

กองทุนควรขยายความครอบคลุมถึงแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ รวมถึงแรงงานภาคเกษตร ซึ่งคิดเป็น 59% ของผู้ทำงานทั้งหมด หรือประมาณ 23.5 ล้านคน ในปัจจุบันยังอยู่นอกระบบประกันสังคม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มร่วมจ่ายเงินสมทบแก่แรงงาน เช่น ไรเดอร์และแรงงานฟรีแลนซ์ เพื่อให้พวกเขาได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ

แนวทางการลงทุน เพิ่มผลตอบแทน อย่างระมัดระวัง

เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในอนาคต กองทุนประกันสังคมจำเป็นต้องปรับแนวทางการลงทุน โดยตั้งเป้าเพิ่มผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 5% ต่อปี อย่างไรก็ตามต้องระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยง เช่น การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดและการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมีความซับซ้อนและอาจส่งผลกระทบได้

นอกจากนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะในด้านการปรับระบบการจ่ายเงินสมทบ การเพิ่มเพดานเงินสมทบให้สอดคล้องกับรายได้ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่มีรายได้สูงจ่ายเงินสมทบเพิ่ม และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในบำนาญ รวมถึงการพัฒนาการดูแลด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงง่ายขึ้น.

เครดิตภาพ : สำนักงานประกันสังคม